วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Intro

แนะนำตัว
HongMovies บล็อกวิจารณ์หนังที่อ่านสนุกที่สุด

สวัสดีครับ ชาวเน็ตที่กำลังเยี่ยมชมบล็อกนี้อยู่ นี่เป็นบล็อกวิจารณ์หนังบล็อกใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ทีมงานประกอบด้วยคุณพจน์เป็นเว็บมาสเตอร์ ส่วนผม นายหยงฮ้ง แซ่เตียว เป็นนักเขียน และนักวิจารณ์ภาพยนตร์บล็อกนี้เกิดจากความชอบหนังเป็นชีวิตจิตใจของผมเอง หวังว่าคุณคงสนุกกับมันนะครับ เราจะพยายามอัพเดทบทความใหม่ๆทุกๆ 15 วัน ท่านผู้อ่านถ้าต้องการส่งบทวิจารณ์หนังเข้ามาเผยแพร่ ทางเราก็ยินดี เพียงแต่ขอให้ใช้ภาษาสุภาพ และอย่าเขียนบทความในเชิงลามกอนาจาร

เนื่องจากทีมงานเป็นมือใหม่ในการทำบล็อก ช่วงแรกๆบล็อกของเราอาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เราจะพยายามพัฒนาบล็อกของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าชอบดูหนัง คุณเข้ามาถูกที่แล้ว

ประวัติส่วนตัวนักเขียน
ก่อนจะไปอ่านบทวิจารณ์หนัง ผมขอแนะนำประวัติการทำงานของตัวเองก่อนนะครับ ผมชื่อหยงฮ้ง แซ่เตียว เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2503 อายุนับถึงวันนี้ (22 ตุลาคม พ.ศ. 2553) ก็ 50 ปี ชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนจังหวัดราชบุรี อายุ 15 ไปทำงานอยู่ที่อำเภอเบตงจังหวัดยะลา เป็นร้านหนังสือของพี่ชาย อายุ 23 ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนพณิชยการสีลม(ภาคบ่าย) การศึกษาสูงสุด จบอนุปริญญา ปวท. สาขาการตลาด ด้วยความชอบหนัง จึงตะลุยดูหนังตามสถาบัน ทั้งๆหนังพวกนี้ไม่พากย์ไทย ไม่บรรยายไทย ก็ดูๆไปทั้งๆที่ไม่รู้เรื่อง เช่นที่ เอยูเอ, หอภาพยนตร์แห่งชาติ, บริททิสเคาน์ซิล, สมาคมฝรั่งเศส, สถาบันเกอเธ่ย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งป่วยเป็นไข้หวัด ออกจากบ้านไม่ได้ จึงเริ่มเขียนบทวิจารณ์หนังชิ้นแรกชื่อ “Die Hard ฉบับ จอห์น แม็คเทียร์แนนเสียฟอร์ม นามปากกา Panavision ส่งไปคอลัมน์ สนามลองมือ ที่นิตยสาร หนังและวิดีโอ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นทยอยส่งบทวิจารณ์หนังไปอีกหลายชิ้น ลงตระกร้าเสียมาก ได้ตีพิมพ์บ้างก็มี จนเพื่อนชื่อ เปิ้ล ที่ทำงานเป็นกองบ.ก.อยู่ที่นิตยสาร Today English ติดต่อมาว่าต้องการนักวิจารณ์หนัง จึงได้งานฟรีแลนซ์วิจารณ์หนังอยู่พักหนึ่ง จากนั้นเพื่อนชื่อ สน เป็นนักเขียนให้กับนิตยสาร Filmview เรียกตัวไปช่วยกันทำบทความแปล โดยเพื่อนเป็นคนแปล ส่วนผมเป็นคนเรียบเรียง ทำส่งนิตยสารในลักษณะฟรีแลนซ์พักหนึ่งจนหนังสือทั้งสองเล่มปิดตัว บังเอิญเพื่อนชื่อ เก้า เป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร Preview ของแมงป่องโทรมา บอกว่า พนักงานพิมพ์ดีดลาออก พิมพ์ดีดได้ไหม ผมบอกว่าได้ เลยได้ทำงานประจำในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล และวิจารณ์หนังหนังสือเล่มนี้ไปด้วย งานรองอีกอย่างที่ทีมงานทำควบคู่กันคือ นิตยสาร แมงป่องไลฟ์ ที่จัดทำขึ้นเพื่อแจกสมาชิกของร้านแมงป่อง ก็ผลิตจากทีมงานเดียวกัน ผมรับหน้าที่วิจารณ์หนังในแมงป่องไลฟ์ด้วย ทำอยู่ 3 ปี หนังสือทั้ง 2 เล่มปิดตัวลงด้วยพิษเศรษฐกิจประมาณปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้น ผมไม่เคยหางานวิจารณ์หนังทำได้อีกเลย

บัดนี้ พ.ศ. 2553 สิบปีผ่านมา ผมชวนเพื่อนชื่อพจน์ซึ่งเรียนออกแบบเว็บไซด์มาทำบล็อกวิจารณ์หนังกัน คุณพจน์อาศัยความรู้ที่มี ทำงานด้านพัฒนาเว็บ ส่วนผมอาศัยความสามารถในด้านการเขียนวิจารณ์หนังที่หยุดไป 10 ปีเต็มๆ กลับมาเขียนวิจารณ์หนังอีกครั้งหนึ่ง เราจะพยายามทำบล็อกของเราให้ดีที่สุด ถ้าคุณชอบหนัง เชิญแวะเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของเรา เพราะเป้าหมายของเราคือ นี่คือบล็อกวิจารณ์หนังที่อ่านสนุกที่สุด

หยงฮ้ง แซ่เตียว
วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ต้องการคุยกับ หยงฮ้ง แซ่เตียว โทร.0890136462 หลัง 13.00 น.


บทความ 1
Die Hard ฉบับ จอห์น แม็คเทียร์แนน เสียฟอร์ม

เมื่อสมัยผมเป็นเด็กต่างจังหวัด (ราชบุรี) พอมีโอกาส มักขึ้นมาเที่ยวกรุงเทพฯเสมอ สิ่งหนึ่งที่มักได้ดูประจำคือหนังกลางแปลงงานวัด พอกลับบ้าน งานวัดแถวบ้านก็มีหนังกาลแปลงอีก เริ่มไตเติ้ลด้วยภาพทุ่งรวงข้าวสีทองของบริษัทโกลเด้นฮาเวส พอหนังเริ่มฉาย ผมก็จำได้ว่า หนังกำลังภายในที่กำลังฉายอยู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกับที่เคยดูจากงานวัดในกรุงเทพฯ ผมก็คิดตามประสาเด็กว่า ถึงจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าฉายในกรุงเทพฯ ก็ต่าจะดูยิ่งใหญ่กว่าฉายตามต่างจังหวัด พอดูจบก็รู้สึกว่า ตอนฉายกรุงเทพฯสนุกกว่าจริงๆ อาจจะเป็นเพราะอุปาทาน หรือบรรยากาศของงานวัดกรุงเทพฯดูคึกคักกว่าก็ได้

พอเริ่มเป็นวัยรุ่น ผมเดินทางไปทำงานที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีโอกาสเข้ากรุงเทพฯปีละครั้ง สิ่งบันเทิงในกรุงเทพฯราคาถูกที่สุดเท่าที่ผมจะจ่ายได้คือหนัง สิ่งหนึ่งซึ่งตื่นตาคนต่างจังหวัดอย่างผมคือ การโฆษณษาหนัง ทั้งทางทีวี วิทยุ หรือคัทเอาท์หน้าโรง โดยเฉพาะเครือสยามมโหรสพ มักจะมีลูกเล่นโฆษณาหนังแปลกๆมาดึงดูดคนดูหน้าโรงเสมอ ทำให้หนังที่กำลังฉายอยู่ดูมีค่าน่าสนใจขึ้นมาอีก

พอกลับเบตง หนังเรื่องเดียวกันที่เคยดูที่กรุงเทพฯก็มาฉายให้ดูกัน สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้คือ ความยิ่งใหญ่ ความน่าสนใจของหนังเรื่องนั้นลดลง เพราะโรงหนังระดับอำเภอไม่มีการโฆษณาใหญ่โตเหมือนในกรุงเทพฯ มีเพียงภาพโปสเตอร์ 1 ใบ และรูปภาพอีก 5-6 แผ่น สภาพโรงหนังก็ไม่สวย ไม่หรูหรา แถมยังดูโทรมๆ ระบบจอ ระบบเสียง ความใหญ่โตของโรงด้อยไปหมด ความรู้สึกทั้งหมดเกิดขึ้นทันที เมื่อดูหนังตัวอย่างจากโรงหนังในกรุงเทพฯ และดูหนังจริงจากโรงต่างจังหวัด

ปัจจุบันผมเข้าทำงานในกรุงเทพฯอีกครั้ง ส่วนใหญ่ก็ดูหนังจากโรงชั้น 1 มีบางเรื่องที่ดูไม่ทัน ก็ตามไปดูที่โรงชั้น 2 ก็พบความแตกต่างกันอีกอย่างชัดเจน โรงชั้น 2 ในกรุงเทพฯส่วนใหญ่สภาพคล้ายกัน คือโทรม บางโรงมีแมลงสาบ ตัวหนังจะพากย์ไทยโดยทางโรงจ้างนักพากย์ประจำ แม้หนังบางเรื่องจะพากย์ไทยในฟิล์มอยู่แล้ว แต่นักพากย์เหล่านี้จะพากย์ทับ นอกจากจะพากย์เสียงตัวละครแล้ว ช่วงที่ตัวละครไม่พูด เขาก็จะทำการเล่าเรื่อง อธิบายเรื่องให้คนดู จะได้ตามเรื่องทัน ผลคือใครอยากจะฟังดนตรีประกอบจากโรงชั้น 2 ก็ไม่ต้องฟังกัน

เมื่อปลายปี 31 หนังเรื่อง Die Hard ของ จอห์น แม็คเทียร์แนน เข้าฉายในเมืองไทย โกยเงินเป็นบ้าเป็นหลัง ผมกับเพื่อนๆได้ดูแล้วติดใจมาก พูดคุยถึงหนังเรื่องนี้ไม่จืดไปหลายวัน

ประมาณเดือนกุมภาฯ 32 ผมกลับไปเที่ยวบ้านเกิดของผมที่ราชบุรีพอดีมีงานวัด ผมกับเพื่อนเลยไปเที่ยว ในงานมีลำตัดหวังเต๊ะปะทะแม่ประยูร ลิเก และหนังกลางแปลง กำลังฉายเรื่อง Die Hard

พอเห็นเท่านั้น ผมกับเพื่อนก็รีบวิ่งไปนั่งดู พอนั่งลงหนังฉายถึงตอนที่พระเอกวิ่งขึ้นบนดาดฟ้าและวิทยุติดต่อสถานีตำรวจ มีตำรวจหญิงรับสายแต่ปฏิเสธการติดต่อของพระเอก พอดูได้สักพัก ความรู้สึกสมัยเป็นเด็กของผมก็กลับคืนมาอีกครั้ง สิ่งแรกที่รู้สึกได้คือ ความขัดตา ขณะที่ภาพบนจอเป็นหนังฝรั่ง ใส่เสื้อนอก วิ่งไล่ยิงกันบนตึก 30-40 ชั้น แต่ที่ฉายกลับเป็นวัดต่างจังหวัด ติดริมคลอง ชาวบ้านก็นุ่งโสร่งแต่งตัวแบบชาวบ้านนั่งดูกัน

หนังคืนนั้นฉายด้วยเครื่องฉายเครื่องเดียว มีนักพากย์ชายคนเดียวพากย์ทั้งเสียงผู้ชายและผู้หญิง และพากย์เสียงตัวละครอีกร้อยแปดในเรื่อง พอดูๆไปก็ชักทำท่าไม่ค่อยดี เพราะรู้สึกว่าคนพากย์จะพากย์นอกบท ยิ่งพากย์ยิ่งออกนอกเรื่องจนดูเป็นพากย์มั่วเหมือนกับไม่มีบทอยู่กับมือ นึกจะพากย์อะไรก็พูดใส่เข้าไป ผมหันไปดูที่โต๊ะพากย์ก็เห็นคนพากย์กำลังพลิกบทพากย์หนังอยู่ ผมเลยไม่เข้าใจว่า บทพากย์ที่แกกำลังอ่านอยู่มันมั่วอยู่แล้ว หรือบทพากย์ทำมาดีตามเนื่องเรื่อง แต่แกมั่วเอง

อย่างตอนหน่วยสวาทบุกเข้าโจมตี ตามบทเดินพระเอกต้องวิ่งไปดูตามหน้าต่างและพูดกับตำรวจนิโกรว่า อย่าบุกเข้ามา อย่าบุกเข้ามา แต่คนพากย์กลับพากย์ว่า บุกเข้ามาเลย! บุกเข้ามาเลย! ทำไมช้าอย่างนี้ ทำไมช้าอย่างนี้ บุกเข้ามาเร็วๆซิโว้ย หรือตอนที่พระเอกจนมุมอยู่หลังกระจก หัวหน้าร้ายจะสั่งลูกน้องว่า ยิงกระจก ยิงกระจก แต่นี่คนพากย์กลับพากย์ว่า ยิงมันเลย ฆ่ามันเลย ฆ่ามัน ฆ่ามัน!” ยิ่งตอนที่กินใจคนดูมากที่สุด คือตอนที่พระเอกดึงเศษกระจกออกจากเท้า และพูดวิทยุกับตำรวจนิโกรว่า ฝากบอกแฟนผมด้วย ตลอดเวลาผมจะพูดกับเธอแต่คำว่า ผมรักคุณ แต่ผมไม่เคยพูดคำว่า ผมเสียใจ ฝากบอกแฟนผมด้วยนะว่า ผมเสียใจ คนพากย์กลับพากย์ว่า เฮ้อ! เบื่อเมียตัวเองว่ะ แก่ก็แก่ สวยก็ไม่สวย นี่ถ้ากูรอดตายไปได้อยากหาเมียใหม่อีกซักคน เฮ้ย! ไอ้มืด มึงช่วยกูหาเมียใหม่ซักคนได้ไหมวะ!”

ตอนดู Die Hard ที่กรุงเทพฯ มีหลายฉากหลายตอนที่คนดูปรบมือเชียร์พระเอก หรือตอนจบที่ตำรวจนิโกรยิงมือปืนผมทองท้ายเรื่อง คนดูก็ปรบมือกันเกรี่ยวด้วยความสะใจ แต่ในงานวัดคืนนั้น ทุกคนนั่งดูกันเงียบกริบ ไม่มีใครปรบมือให้หนังเรื่องนี้เลยสักคนเดียว

Die Hard จากฝีมือกำกับอันประณีตของ จอห์น แม็คเทียร์แนน จึงมีอันต้องเสียฟอร์มหมดรูปกันไปด้วยประการะฉะนี้

Panavision
13 พฤษภาคม 2532
ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ สนามลองมือ นิตยสาร หนังและวิดีโอ ปีที่ 2 ฉบับที่ 32 ปักษ์แรก สิงหาคม 2532

บทความ 2
จาก Intolerance ถึง The Exorcist เมื่อพระบาปหาญสู้ผีนรก

เมื่อสมัยผมอายุ 16 ผมได้ข่าวเกรียวกราวของหนังเรื่องหนึ่ง ว่าเป็นหนังที่ตื่นเต้นสยดสยอง และโกยเงินมาแล้วทั่วโลก เมื่อหนังเข้าฉาย ผมก็ตีตั๋วเข้าไปดู ผลก็คือผิดหวัง เพราะหนังไม่ตื่นเต้นอย่างที่คิด ตรงข้าม กลับน่าเบื่อเอามากๆ หนังเรื่องที่ว่าคือ The Exorcist

ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทางหอภาพยนตร์แห่งชาติได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจัดรายการ หนังดีที่สุดของโลก ขึ้น โดยจัดฉายหนังเรื่อง The Battleship Potemkin และ Intolerance ซึ่งถือเป็นหนังดีที่สุดของโลกอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

ผมเองก็มีโอกาสได้ดูหนังทั้ง 2 เรื่องนี้ และยังประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นไม่นาน ทางทีวีสีช่อง 7 ได้นำหนังเรื่อง The Exorcist ออกฉายทางทีวี ผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นกับข่าวที่ว่านี้เลย วันที่ฉายก็นั่งดูไปอย่างงั้น ไม่ได้ตั้งความหวังว่าหนังจะสนุกตื่นเต้นอะไรอีกแล้ว แต่คราวนี้ผมที่ได้รับกลับผิดคาด

ใน Intolerance ดี ดับบริว กริฟฟิธ ผู้กำกับแบ่งหนังออกเป็น 4 เรื่องย่อยๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่มีโครงเรื่องหลักอันเดียวกัน เขานำหนังทั้ง 4 เรื่องมาตัดสลับกันไปสลับกันมาตลอดเรื่อง ครึ่งแรกออกจะดูน่าเบื่อ (เล่นเอาคนดูในศูนย์วัฒนธรรมฯหลับกันคอพับคออ่อนไปหลายราย รวมถึงตัวผมเองด้วย) แต่พอเข้าครึ่งหลัง เมื่อหนังทั้ง 4 เรื่องเดินเข้าสู่ไคลแม็กซ์อันเดียวกัน คนดูก็เริ่มตื่น และค่อยๆทวีความตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆจนระเบิดสุดขีดกันในฉากสุดท้าย เล่นเอาคนดูปรบมือกันเกรียว

เมื่อดู Intolerance จบ ผมก็คิดว่าคงจะไม่มีหนังเรื่องไหนในโลกที่จะนำโครงสร้างของหนังแบบ Intolerance มาใช้ได้อีกแล้ว

แต่ผมคิดผิด!

เมื่อดู The Exorcist ซ้ำทางทีวี พอหนังเริ่มฉาย ผมก็รู้สึกเฉยๆ แต่พอเรื่องยิ่งเดินไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มตื่น และค่อยๆทวีความตื่นเต้นมากขึ้น พอหนังจบผมถึงกับช็อก เมื่อรู้ว่าหนังเรื่องนี้เอาโครงสร้างของ Intolerance มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ และใช้อย่างได้ผล

ถ้าใครได้ดู The Exorcist จะสังเกตเห็นว่า ครึ่งแรกของเรื่อง คนดูจะได้ดูหนัง 3 เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย นำมาตัดสลับกันไปสลับกันมา เรื่องแรกคือเรื่องที่เกิดที่ทะเลทรายแห่งหนึ่ง พระแก่ (แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์) ทำการขุดค้นสมบัติโบราณและประจันหน้ากับผีร้าย เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องราวของพระหนุ่ม (เจสัน มิลเลอร์) ซึ่งกำลังมีปัญหาทางการเงิน เขาคิดจะสึกออกไปเป็นนักมวยหาเลี้ยงแม่ แต่เขาแก่เกินไป ท้ายสุดเมื่อจนหนทาง เขาตัดสินใจส่งแม่ไปยังสถานสงเคราะห์คนชรา ทำให้แม่ตรอมใจตาย ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อันดีระหว่างดาราสาวใหญ่ (เอเลน เบอร์สทีน) กับลูกสาว (ลินดา แบลร์) แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อผีร้ายเข้าสิงตัวลูกสาว

ช่วงครึ่งแรก หนังทั้ง 3 เรื่องนี้จะแยกจากกันโดยเด็ดขาด ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันเลย แต่พอถึงครึ่งหลัง เมื่อพระหนุ่มมาทำพิธีปราบผีที่บ้านของดาราสาว หนัง 2 เรื่องก็เริ่มรวมตัวกัน พอตอนท้ายเรื่อง เมื่อพระแก่มาช่วยปราบผีอีกคน หนังทั้ง 3 เรื่องก็รวมตัวกันอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นหนังเรื่องเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ปูพื้นกันไว้ในหนัง 3 เรื่องแรก จะมาสรุปรวบยอดอย่างตื่นเต้นและเจ็บปวดในฉากปราบผีท้ายเรื่อง

สิ่งหนึ่งที่หนังเน้นถึงคือเรื่องของ ความสัมพันธ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หนังเรื่องแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างพระแก่กับผีร้าย เรื่องที่ 2 คือความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างพระหนุ่มกับแม่ เรื่องที่ 3 คือความสัมพันธ์ระหว่างดารากับลูกสาว ผู้กำกับหนัง วิลเลียม ฟรีดกิน ต้องการจะบอกคนดูว่า ทุกสิ่งในโลกมีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือเลว แม้แต่ตัวหนังเอง ตอนแรกก็แยกจากกันเด็ดขาด เริ่มมีความสัมพันธ์กันในฉากตอนเช้าในโบสถ์ พระองค์หนึ่งเปิดประตูโบสถ์เข้ามา เห็นรูปปั้นในโบสถ์ถูกคนแอบเอาสีมาป้ายจนเลอะเทอะไปหมด หนังตัดมาที่ ลินดา แบลร์ เริ่มถูกผีเข้าสิง เป็นการบอกคนดูว่า ผีร้ายเริ่มท้าทายพระเจ้า และเริ่มแผลงฤทธิ์

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างรวมของหนัง ส่วนหัวใจของหนังจริงๆคือการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาและพระเจ้าอย่างรุนแรง

คุณเคยมีความคิดอย่างนี้บ้างไหม?

ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี
ทำไมสังคมจีงมีแต่ความวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีไม่มีความสงบสุข
ทำไมชีวิตคนส่วนใหญ่จึงมีแต่ความทุกข์
ทำไมบางครั้งความชั่วร้ายมีอำนาจเหนือความดี

ถ้าพระเจ้ามีจริง มีอิทธิฤทธิ์จริงทำไมจึงทรงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกเป็นร้อยๆปี ทำไม่ไม่ทรงบันดาลให้โลกมีแต่ความสงบสุข จากความรู้สึกหมดหวังในศาสนา หมดหวังในพระเจ้า ทุกอย่างนี้รวมตัวเป็นหนังเรื่อง The Exorcist

ถ้าคุณกำลังมีศรัทธาในความดี ศรัทธาในศาสนาและพระเจ้า กรุณาอย่าดูหนังเรื่องนี้ เพราะคุณจะเกิดอาการประสาทเสีย หรือเสียดายเงิน

แต่ถ้าคุณเป็นนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ ต้องการดูตัวอย่างของวิธีการทำหนังชั้นยอด หรือคุณกำลังเป็นคนที่หมดศรัทธาในความดี ในศาสนา ในพระเจ้าแล้วละก็ The Exorcist เป็นหนังสำหรับคุณ

ขอเตือนไว้อีกนิด ก่อนจะดูหนังเรื่องนี้ กรุณาอย่างตั้งความหวังว่าหนังเรื่องนี้จะ สนุกสุดขีด ตื่นเต้นสุดขีด สยดสยองสุดขีด หรืออะไรทำนองนั้น เพราะ The Exorcist ก็มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกับหนังทุกเรื่องในโลก ถ้าถ้าคุณตั้งความหวังมากเกินไป คุณจะผิดหวัง

บาปที่ร้ายแรงที่สุด คือการท้าทายอำนาจของพระเจ้า อาจจะเป็นเพราะ วิลเลียม ฟรีดกิ้น ท้าทายอำนาจพระเจ้าด้วยหนังเรื่องนี้ก็ได้ หลังจากหนังเรื่องนี้แล้ว ดวงของฟรีดกินซึ่งกำลังพุ่งสุดขีด ก็มีอันตกฮวบลงมาทันที และยังเอาดีไม่ได้อีกจนถึงทุกวันนี้

Panavision
คอลัมน์ สนามลองมือ นิตยสาร หนังและวิดีโอ ปีที่2 ฉบับที่ 34 ตุลาคม 2532

บทความ 3
หนังทดลอง (Experimental Film) เมื่อความอุจาดกลายเป็นศิลปะ

ความคิดในการทำหนังทดลองเกิดจากนักทำหนังรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายต่อกฎเกณฑ์และวิธีการทำหนังแบบเก่าๆ พวกเขาจึงแหกกฎเกณฑ์เก่าๆโดยสิ้นเชิงด้วยการ ทดลอง ทำหนังที่ แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ทั้งรูปแบบและการเล่าเรื่อง ต้องเป็นหนังที่สด ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยเขาจะเป็น ผู้นำ และเป็นเจ้าของ สไตล์ ในการทำหนังแบบพิศดารอันนั้น

รูปแบบของหนังไม่มีการกำหนดตายตัว หนังจึงออกมาอย่างมีอิสระในความคิด หลากสไตล์ ในปีหนึ่งๆประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาผลิตหนังทดลองออกมานับร้อยเรื่อง ในจำนวนนี้มีทั้งหนังทดลองที่ดีและเลว กฎเกณฑ์ที่ใช้ชี้ขาดหนังถือความแปลกใหม่ และถือไอเดียหลักของคนสร้างว่าต้องการนำเสนออะไร จากนั้นดูจากตัวหนัง ว่าทำได้ตามที่ต้องการหรือไม่

ความสนุกในการทำหนังทดลองอยู่ที่ความคิดแผลงๆร้อยแปดพันเก้า บางคนหัวม้วนหางม้วนของหนังเช่น ภาพเลขนับถอยหลัง 5-4-3 และส่วนอื่นๆมาต่อกันแล้วฉายโดยตั้งชื่อว่า “Material Film” บางคนทำหนังเป็นภาพเนกาทีฟทั้งเรื่อง บางคนทำหนังสปีดเร็วทั้งเรื่อง หรือทำหนังถอยหลังทั้งเรื่อง บางคนเอาฟิล์มไปวางบนถนนให้คนเหยียบย่ำ เอาฟิล์มไปฝังดิน รดน้ำใส่ปุ๋ย แล้วเอาฟิล์มมาฉาย บางคนเอาฟิล์มไปขัดๆถูๆในห้องน้ำ เพื่อจงใจให้เกิดรอย แล้วนำออกฉาย หรือ แอนดี้ วอลฮอล ศิลปินอเมริกันชื่อดังระดับโลก เอากล้องไปถ่ายคนนอนหลับติดต่อกันนาน 6 ชั่วโมง และออกฉายโดยตั้งชื่อหนังว่า “Sleeep”

นักทำหนังทดลองส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์สอนทำหนังทดลอง และนักศึกษาที่เรียนวิชาหนังทดลอง หนังทดลองเหมือนงานศิลปะที่ดูไม่รู้เรื่อง ไม่สนุก น่าปวดหัว น่าเบื่อ ทั้งนี้เพราะหนังเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์ เฉพาะตัว ที่คนสร้างคิดขึ้นเอง ไม่ใช่สัญลักษณ์สากลที่ทุกคนเข้าใจง่ายๆ ต้องอาศัยเจ้าของผลงานมาอธิบายความหมายเฉพาะตัวนั้นเหมือนกับงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม สำหรับเมืองไทย หาดูได้ค่อนข้างยาก สถาบันเกอเธ่เคยจัดสัมนาเรื่องหนังทดลอง นอกนั้นอาจจะพอหาดูได้ตามหอศิลป์ เช่น วีดีโออ๊าต ถ้าตามข่าวกิจกรรมบ่อยๆ บางทีจะมีคนจัดฉายหนังทดลองจากต่างประเทศด้วย (แต่ปัจจุบันลองเข้าไปหาดูใน youtube )

อากิระ คูโรซาว่า เคยให้สัมภาษว่า เขาทำหนังเรื่อง Rashomon (1951) ในรูปแบบของหนังทดลอง หมายความว่าเขาจะทดลองการเล่าเรื่องที่แปลกๆใหม่ๆ ชนิดที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ยังมีหนังอีกตระกูลหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ หนังใต้ดิน (Underground Film) พวกนี้ถือหลักว่าหนังที่ฉายตามโรงและทีวีเป็นหนังที่ทำตามกฎเกณฑ์ เป็นหนังบนดิน ส่วนพวกเขาจะทำหนังแหกกฎเกณฑ์หนังบทดินทุกอย่าง กฎเกณฑ์บางอย่างที่หนังบนดินห้ามทำ ถ้าทำจะถือเป็นหนังที่เสีย หนังใต้ดินจะเอามาทำหมด การจงใจแต่งฟิล์มให้ดูเก่า การล้างฟิล์มหรือพิมพ์ฟิล์มให้โอเวอร์จนกลายเป็นภาพแกร็นหยาบและสว่างจ้าไปทั้งจอ หนังบนดินจะตั้งกล้องนิ่งๆ แต่หนังใต้ดินจะส่ายกล้องไปมาไม่หยุดทั้งเรื่อง คล้ายกับคนถ่ายหนังไม่เป็น แต่เป็นการจงใจ

หนังพวกนี้แหละที่จุดประกายความคิดแปลกใหม่ให้กับวงการหนัง บางครั้งเราดูงานหนังโฆษณาหรือมิวสิควิดีโอแล้วทึ่ง แต่ความคิดแปลกใหม่ส่วนใหญ่ที่เราได้เห็นก็ดัดแปลงมาจากหนังทดลองหรือหนังใต้ดินแทบทั้งนั้น

หนังที่บรรดาอาจารย์ถือว่าเป็นแม่บทของหนังทดลองคือหนังขาว-ดำเรื่อง “Un Chien Andalou” (1928) กำกับโดย หลุยส์ บุนเยล ความยาว 18 นาที อาจารย์สอนทำหนังทดลองจะฉายให้นักศึกษาดูในห้องเรียน น่าจะพูดได้ว่านี่คือหนังทดลองที่ยอดเยี่ยมที่สุด และดีที่สุดอันดับหนึ่งของโลก

ในการสร้างหนังและเซ็นเซอร์หนังยุคแรก (ยุคหนังเงียบ ขาว-ดำ) จะถือว่านังความบันเทิง และต้องแสดงภาพที่เรียบร้อยสุภาพต่อสาธารณชน เช่น ห้ามมีฉากกอดจูบเล้าโลมกันในหนัง ห้ามมีฉากชายหญิงนอนบนเตียงเดียวกัน ถ้าจะมีให้นอนแยกกันคนละเตียง ฯลฯ หลุยส์ บุนเยล คงจะรำคาญกฎเกณฑ์ต่างๆที่ว่า จึงร่วมกับ ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินแนวเหนือจริงชื่อดัง ทำหนังเงียบขาว-ดำเรื่อง “Un Chien Andalou” (1928) เนื่อหาเกี่ยวกับการต่อต้านกฎเกณฑ์ของสังคมและศาสนา หนังความยาวแค่ 18 นาทีเรื่องนี้ก่อให้เกิดการขุ่นเคืองโกรธแค้นต่อผู้ชมเมื่อนำออกฉายครั้งแรก ถึงขั้นพังจอ พังโรงหนัง เผาฟิล์ม เพราะบุนเยลอัดภาพที่ชวนอุจาดลูกตาเข้าไปในหนังเต็มเหยียด ถึงแม้คนยุกนี้มาดูเข้าก็ต้องตกใจกับภาพหลายๆภาพที่นำเสนออย่างโจ่งแจ้ง บุนเยลใช้ภาพชวนอุจาดในลักษณะของสัญลักษณ์และต่อต้านสังคม

หนังของบุนเยลเรื่องต่อๆมาดูจะเพลาลงในแง่ของภาพ คือมีฉากชวนอุจาดน้อยลง หันไปเน้นด้านเนื้อหาที่วิพากย์วิจารณ์สังคมและศาสนา แต่ก็ถือได้ว่า หลุยส์ บุนเยล คือนักสร้างหนังคนแรกที่สามารถ สร้างความอุจาดให้กลายเป็นศิลปะ ได้

นักสร้างหนังรุ่นต่อมาก็ดูเหมือนจะได้อิทธิพลจาก“Un Chien Andalou” (1928) ไม่น้อย ต่อไปนี้จะพูดถึงหนังตลาดที่ออกมาในแนว อุจาดศิลป์ เต็มที่

แซม เพ็คคินพาห์ ถือเป็นผู้กำกับต้นแบบของความรุนแรงที่สวยงาม แต่พอมาทำหนัง Straw Dogs (1971) เขาก็ลดความสวยงามลง และเพิ่มความอุจาดเข้าไป ภาพหลายๆภาพดูออกเลยว่าได้อิทธิพลมาจากหนัง“Un Chien Andalou” (1928) โดยเฉพาะโปสเตอร์หนัง ภาพใบหน้าดัสติน ฮอฟแมน กับแว่นตาที่แตกนั้นเหมือนกับลักษณะของภาพใน“Un Chien Andalou” (1928) เอามากๆ หนังเรื่อง Straw Dogs มีความรุนแรงตั้งแต่ในเนื้อเรื่อง รวมถึงภาพที่นำเสนอ ยิ่งครึ่งหลัง ช่วงที่กลุ่มอันธพาลบุกบ้านดัสติน ฮอฟแมน บรรยากาศของหนังตึงเครียดและรุนแรงสุดขีด เราได้เห็นดัสติน ฮอฟแมน ต่อสู้กับผู้ร้ายในสภาพเหงื่อแตกเต็มหน้า ผมที่เปียกชุ่มด้วยเหงื่อก็ปรกไปปรกมา สีหน้าแววตาระหว่างถือท่อนเหล็กเข้าต่อสู้กับผู้ร้ายก็ตึงเครียดตื่นกลัวราวกับคนวิกลจริต

เพ็กคินพาห์ถ่ายทำหนัง The Wild Bunch อย่างวิจิตรบรรจง แต่พอถึง Straw Dogs กลับถ่ายอย่างง่ายๆไม่สวยงามเท่า ดูเหมือนเขาต้องการจะบอกคนดูว่า ชีวิตมีทั้งด้านสวยงามและอัปลักษณ์ สำหรับ Straw Dogs เขาสะท้อนความอัปลักษณ์ของชีวิตด้วยภาพที่อัปลักษณ์เต็มที่

เมื่อ The Exorcist (1973) ของ วิลเลียม ฟรีดกิน ออกฉายครั้งแรกในอเมริกา คนดูถึงกับอาเจียน เพราะฟรีดกินอัดฉากอุจาดตาเข้าไปเต็มเหยียด ลูกเล่นของฟรีดกินไม่โฉ่งฉ่าง แต่มีความน่าสนใจในรายละเอียดที่แน่นเปรี๊ยะ และดูมีความมันอยู่ลึกๆ เขาเก่งตรงที่ใช้ฉากอุจาดดึงคนดูเข้าโรง และใช้อธิบายถึง Theme ของหนังได้อย่างหมดเปลือก 3 ฉากที่เป็นกุญไข Theme ของเรื่องคือ 1 ) ฉากรูปปั้นในโบสถ์ ถูกคนเอาสีมาป้ายจนเลอะเทอะ 2 ) ฉากผีร้าย (ลินดา แบลร์) ลบหลู่ไม่กางเขน และ 3 ) ฉากความตายของพระทั้งสองรูปในตอนจบ

รายละเอียดของหนังมีมากมายตั้งแต่เปิดเรื่อง ที่เด่นมากคือช่วงที่ ลินดา แบลร์ เริ่มถูกผีสิง ตั้งแต่บุคลิกของเธอที่ค่อยๆหยาบกระด้าง ใบหน้าค่อยๆถูกตกแต่งให้น่าเกลียดน่ากลัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรักษาด้วยวิธีการสมัยใหญ่สารพัดทั้งเอกซเรย์ เจาะเลือด เมื่อไม่ได้ผลก็เริ่มเข้าหาแพทย์ทางเลือกด้วยการสะกดจิต ลงท้ายต้องพึ่ง หมอผี พระหนุ่มพันตูกับผีร้ายอยู่นาน แต่ก็ปราบไม่สำเร็จ จนต้องติดต่อพระแก่มาช่วย แสดงให้เห็นว่าเจ้าผีร้ายตัวนี้ไม่ใช่ผีธรรมดาที่ใครจะปราบได้ง่ายๆ ศึกปราบผีในตอนจบจึงถือเป็นศึกครั้งสำคัญจริงๆ ครึ่งแรก วิลเลียม ฟรีดกิน แบ่งหนังออกเป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์ 3 เรื่องย่อยๆ แต่พอพระแก่มาร่วมปราบผี คนดูก็ต้องทึ่ง เมื่อฟรีดกิ้นเอา ความสัมพันธ์ ในหนัง 3 เรื่องมาขยำรวมกันในฉากปราบผีอันยายนานจนจบเรื่อง

เอยูเอ เคยเอาหนังเรื่องนี้มาฉายที่หอประชุม เพื่อนผมดูแล้วบ่นว่าหนังไม่สวย เหมือนดูสารคดี ผมบอกเพื่อนผมว่า วิลเลียม ฟรีดกิน เคยให้สัมภาษว่า ก่อนจะทำหนังตลาด เขาเคยเป็นคนทำหนังสารคดีมาก่อน พอมาทำ The Exorcist เขาเอาวิธีการทำหนังสารคดีมาใช้ คือให้ทุกอย่างในหนังตั้งแต่ฉาก เสื้อผ้า หน้าตา ทรงผม การถ่ายทำ มุมกล้อง การจัดแสง การใช้สี การแสดง เหมือนหนังสารคดี คือไม่สวย ไม่มีการปรุงแต่ง ทุกอย่างเหมือนถ่ายจากของจริง ไม่ใช่จงใจถ่ายหนังให้สวยเกินจริงจนทุกอย่างดูปลอมไปหมดทั้งจอ เมื่อคนดูดูว่าทุกอย่างในหนังมันจริงไปหมด ฉากผีเข้า คนดูจะรู้สึกว่า คนดูกำลังได้ดูเหตุการณ์จริงๆ

ในปี 1974 หนังเรื่อง The Texas Chainsaw Masscre ของผู้กำกับ โทบีฮูเปอร์ ออกฉาย คราวนี้มีข่าวว่าคนดูถึงกับหัวใจวายตายคาโรงหนังกับภาพที่ตื่นเต้นสยดสยองสุดขีดเท่าที่เคยมีมา บางโรงถึงกับต้องทำประกันชีวิตคนดู (ในเมืองไทยก็เอากับเขาด้วย) โทบีฉีกแนวแหกคอกหนังสยองขวัญเก่าๆโดยสิ้นเชิง เขาเอาโครงเรื่องจากเรื่องจริงมาปรุงแต่งให้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร คนดูจะได้เห็นการฆ่าที่สมจริงอุจาดตาที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา หนังลงทุนแค่ 3 แสนดอลล่าร์ โดยดึงเอาเพื่อนๆที่เพิ่งเรียนจนมาช่วยกันเล่นช่วยกันทำ เพราะความที่ทุนต่ำ การถ่ายทำและการสร้างฉากจึงดูค่อนข้างหยาบ แต่กลับได้ผลในแง่ของความสมจริง

อาจจะเป็นเพราะปัญหาด้านการเซ็นเซอร์หรือทุนสร้าง เราจึงแทบไม่ได้เห็นภาพอุจาดที่ชัดๆจากหนังเรื่องนี้เลย โทบีใช้มุมกล้องหลบภาพบังภาพเสียเกือบหมด เขาหันมาเล่นกับอารมณ์ของคนดูแทน แต่เท่าที่เห็น คนดูก็พอเดาออกว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น และเท่าที่เห็นก็อุจาดตาเกินพอแล้ว

หนังสะท้อนถึงความวิปริตของสังคมและมนุษย์ ภาพ มาริลิน เบิร์นส์ ถูกมัดอยู่กับเก้าอี้ และหวีดร้องสุดเสียงอย่างตื่นกลัว เพื่อหวังว่าจะมีคนได้ยินและช่วยเหลือ กลับถูกกลุ่มฆาตกรหัวเราะและมองดูอย่างตลกขบขัน

ถ้าคุณเอาหนังเรื่อง Straw Dogs, The Exorcist และ The Texas Chainsaw Masscre มาดู คุณจะเห็นว่า หนังทั้ง 3 เรื่องนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง และภาพที่อุจาดตา แต่หนังทั้ง 3 เรื่องนี้กลับสามารถ สร้างความอุจาดให้กลายเป็นศิลปะขึ้นมาได้

โรงเรียนทำหนังหรือศิลปะในยุโรปและอเมริกาจะจัดฉายหนังทดลองทุกสัปดาห์ ผมไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศเหล่านี้จึงสามารถสร้างนักทำหนังรุ่นใหม่ๆมาเขย่าวงการหนังโลกให้สั่นสะเทือน กลายเป็น ประวัติศาสตร์ หน้าสำคัญของโลกภาพยนตร์ พวกเขาฝึกคนเหล่านี้ให้เป็นผู้นำ มีความแปลกใหม่ มีสไตล์เฉพาะตัว คิดเองเป็น โดยได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากการดู การสร้าง และศึกษาหนังทดลอง (Experimental Film) อยู่เป็นประจำนั่นเอง

Panavision
คอลัมน์ สนามลองมือ นิตยสาร หนังและวิดีโอ ปีที่ 2 ฉบับที่ 37 มกราคม 2533

บทความ 4
Cinema Paradiso สวรรค์ภาพยนตร์

ผมยังจำได้...
เมื่อพุทธศักราช 2518 อำเภอเบตงจังหวัดยะลา เป็นอำเภอเล็กๆในหุบเขาใต้สุด ติดชายแดนมาเลเซีย เขตภายในตัวเมืองจริงๆนั้นเล็กมาก ปั่นจักรยานไม่กี่นาทีก็วนได้รอบเมือง ปั่นไปสักปีก็จำหน้าคนในเมืองได้เกือบครบหมด เพราะมีกันอยู่ไม่กี่คน รอบนอกออกไปเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ สถาณีตำรวจ ศาล โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ สถานีวิทยุประจำอำเภอ รอบนอกออกไปอีกเป็นป่าสวนยาง ซึ่งจะมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ ภาหนะที่คนส่วนใหญ่ใช้คือจักรยาน ที่มีฐานะหน่อยใช้มอเตอร์ไซด์ รถเก๋งส่วนบุคคลมีคนใช้น้อยมาก แต่ก็ดูหรูสุด รถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นรถกะบะหรือรถบรรทุกส่งของ มีรถสองแถวรับส่งคนจากป่าสวนยางเข้าเมือง และมีรถยนต์ยี่ห้อเบ้นซ์มือสอง ซึ่งใช้บริการเดินทางจากอำเภอเบตงไปจังหวัดยะลา และจะมีคนเช่ามาใช้ในพิธีสำคัญ เช่นงานแต่งงาน

ความเล็กของเมือง ทำเอาคนในเมืองรู้จักกันไปหมด จนเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ใครรักใครชอบใครจีบกันวันเดียวเป็นรู้กันทั้งเมือง บางครั้งเพื่อนผู้ชายที่สนิทกันมากๆก็ต้องมาแย่งจีบผู้หญิงคนเดียวกัน เพราะผู้หญิงสวยๆในเมืองก็มีกันอยู่ไม่กี่คน คำพูดจีบผู้หญิงที่คุ้นหูคือ ไปกินน้ำหวานกันมั้ยจ๊ะ ถ้าผู้หญิงคนไหนได้ยินคำพูดนี้จะรู้ตัวทันทีว่า กำลังโดนจีบ และร้านขายน้ำหวานทั้งเมืองก็มีกันอยู่แค่ 2-3 ร้านเท่านั้น

พุทธศักราช 2518 นั้น ความบันเทิงของคนในเมืองเล็กๆอย่างนี้ดูจะขาดแคลนเอามากๆ โทรทัศน์ก็สามารถรับช่อง 10 หาดใหญ่ได้อยู่หรอก แต่ภาพไม่ชัด ยุคนั้นฟรีทีวี ช่อง 3 5 7 9 ยังไม่มีการสร้างสถาณีเครือข่ายแถวนั้น จึงรับสัญญาณไม่ได้ โทรทัศน์ในเมืองนี้สามารถรับช่องรายการทีวีของมาเลเซียได้อยู่หรอก ถึงแม้ภาพจะคมชัด สีสวยมากๆ แต่ก็ฟังภาษามาเลย์กันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ความบันเทิงสิ่งเดียวที่ถือว่าสำคัญที่สุดสำหรับผู้คนในอำเภอบ้านนอกเล็กๆอย่างนี้คือโรงหนัง

ผู้คนในเมืองนี้ดูหนังกันเป็นชีวิตจิตใจ หนังไทยดังๆอย่าง สวัสดีคุณครู, แผลเก่า, บ้านทรายทอง, เสือภูเขา, ครูบ้านนอก เข้าฉายวันแรกคนแห่เข้าไปดูโรงแทบแตก ใครเข้ากรุงเทพฯช่วงนั้น ได้ดูหนังดังๆที่กรุงเทพฯ พอกลับมาจะมาคุยให้เพื่อนๆฟังว่า ฉันดูมาแล้วนะ ทั้งนี้เพราะหนังที่นี่เข้าฉายช้ามาก คือจะฉายหลังจากกรุงเทพฯประมาณ 3-4 เดือน เรียกว่ารอจนแทบหายอยากกว่าจะได้ดู วันที่ฉายหนังเรื่อง วัยอลวน ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ วันแรก ทางโรงเอากระเป๋าใส่ฟิล์มภาพยนตร์ที่เป็นกระเป๋าหนังสีน้ำตาล มาวางไว้ใกล้ห้องขายตั๋ว และมีกระดาษแผ่นใหญ่เขียนคำโฆษณาว่า นี่คือฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน ที่จะจัดฉายในคืนนี้

หนังกำลังภายในของชอว์บราเดอร์ดังๆที่สร้างจากนิยายของ โก้วเล้ง ยุคนั้นเช่น ศึกวังน้ำทิพย์, ศึกเสือหยกขาว เปิดฉายวันแรก คนก็แห่ไปดูโรงแทบพัง ความดังของหนังกำลังภายในซึ่งกำกับการแสดงโดย ฉู่เหยียน และสร้างจากนิยายโก้วเล้ง ทำให้มีบริษัทเล็กๆ ทำหนังกำลังภายในทุนต่ำเลียนแบบตามออกมามากมาย มีหนังตัวอย่างหนังกำลังภายในเกรดบีของใต้หวัน ดาราโนเนมหน้าตาซื่อบื่อ แต่งตัวเป็นจอมยุทธ ยืนเต๊ะท่าอยู่ที่ริมทะเล พลางพูดว่า ดูความร้ายกาจของพลังซื่อบื่อ ว่าแล้วพ่อเจ้าประคุณก็ร้องว๊าก ก้มลง เอามือแตะที่หัวเข่า สั่นมือ และยกมือขึ้นมาถึงหน้าอก ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง เพื่อนผมดูแล้วหันมาพูดกับผมว่า กูดูแล้วขนลุก

หนังฝรั่งเก่าๆหลายเรื่อง สายหนังก็ขุดฟิล์มเก่าบ้างใหม่บ้างมาฉายให้ดูกัน เช่นเจมส์ บอน ตอน Dr. No, You Only Live Twice, On Her Majesty’s Secret Service, Diamonds Are Forever หนังเรื่อง Lawrence of Arabia, The Guns Of Navarone, Oliver!, The French Connection, The Exorcist และ The Ten Commandments ที่ฉายด้วยฟิล์มใหม่เอี่ยม สีสวยสด ภาพคมชัด และบรรยายอักษรจีนตลอดเรื่อง

ตัวผมเองทำงานอยู่ที่ร้านขายหนังสือของพี่ชาย เยื้องๆกับโรงหนัง หลังจากหนังฉายหนึ่งวัน มีชายแก่มาคุยกับผมที่ร้าน บอกว่าหนังเรื่อง The Ten Commandments ที่เพิ่งฉายไปนี่ คนพากย์ไทย พากย์ไม่ถึง โดยเฉพาะตอนที่ฟาโรห์พูดว่า จงลบชื่อ โมเสธ ออกจากหนังสือทุกเล่ม ออกจากเสาทุกต้น และห้ามมิให้ใครเอ่ยชื่อ โมเสธ บนแผ่นดินนี้อีก เขาบอกว่าฉากนี้เป็นฉากที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก แต่คนพากย์ พากย์ไม่ได้อารมณ์เลย เขาบอกว่าเขาเป็นนักพากย์เก่า พากย์หนัง บัญญัติสิบประการ มาหลายครั้งแล้ว ฉากนี้ ถ้าจะพากย์ให้ถึง ต้องพากย์อย่างนี้ ว่าแล้ว เขาก็พากย์ฉากฟาโรห์สั่งลบชื่อโมเสธให้ผมฟังสดๆเดี๋ยวนั้นทันที

ประมาณปีพ.ศ. 2520 รัฐบาลไทยสั่งขึ้นภาษีหนังเทศจากราคาเมตรละ 3 บาท เป็นเมตรละ 30 บาท เพื่อเป็นการช่วยอุตสาหกรรมหนังไทย ทางบริษัทจัดจำหน่ายหนังฮอลลีวู้ดใหญ่ๆหลายค่ายมองว่านี่เป็นการกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม จึงร่วมมือกันประท้วงด้วยการไม่ส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทยเลย คนดูหนังยุคนั้นพาลจะเกิดอาการลงแดงไปตามๆกัน เพื่อนๆของผมที่มีฐานะ เคยวางแผนว่าจะเดินทางข้ามชายแดนไปดูหนังฮอลลีวู้ดดังๆที่มาเลย์เซีย วันหนึ่งโรงหนัง ออโรร่า ที่เบตง ก็เอาหนังเรื่อง Star Wars (1977) ของ ยอร์จ ลูกัส มาฉาย ที่โปสเตอร์หนังเปลี่ยนชื่อหนังเป็น War Of The World (ซ้ำกับชื่อหนังปี 1953 ของ ยอร์จ พาล) เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์ สายหนังบอกผมว่า ไปขอก็อปปี๊ฟิล์มมาจากมาเลเซีย ตอนฉายก็ตัดไตเติ้ลคำว่า Star Wars ทิ้ง เปิดเรื่องเป็นตัวหนังสือสีเหลืองค่อยๆเคลื่อนไปในอวกาศ

(ผมตีตั๋วเข้าไปดู คุณภาพของการก็อปปี้อยู่ในระดับใช้ได้ ภาพและเสียงคมชัด แต่ต่อมาอีกหลายปีเมื่อบริษัทจัดจำหน่ายหนังฮอลลีวู้ดเลิกประท้วงรัฐบาลไทย โดยส่งหนังดังๆเข้ามาฉายตามปกติ ก็มีหนัง Star Wars ส่งเข้ามาเป็นล็อตแรกๆ ผมตีตั๋วเข้าไปดูอีกครั้ง เลยเกิดการเปรียบเทียบ ฟิล์มฉบับก็อปปี้จากมาเลเซียนั้นได้สีไม่ครบ คือเป็นหนังสีฟ้าแทบทั้งจอ แทบจะไม่สีอื่นเลยนอกจากสีฟ้า พอดูฟิล์มฉบับมาตรฐาน ในหนังมีสีหลายสีมาก สีสวยสดใส ไม่ใช่มีแต่สีฟ้าซีดๆทั้งจออยู่สีเดียว)

หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน โรงหนังที่เบตงก็เอาหนังเรื่อง The Warriors หนังปี 1979  ของ วอลเตอร์ ฮิลล์ มาฉาย ไม่รู้ว่าเอาฟิล์มมาจากที่ไหน แต่คราวนี้ภาพคมชัดสีสวยสด

พี่ชายบอกให้ผมทำ บอร์ดิ้งพาส คือใบผ่านชายแดนเพื่อไปอำเภอโก๊ะของมาเลเซีย ซึ่งเป็นอำเภอที่ติดกับอำเภอเบตง เพื่อไปเที่ยวและซื้อของติดมือกลับมา แต่เกิดผิดพลาด ผมไปพูดผิดว่าขอทำพาสปอร์ต เลยได้พาสปอร์ตมา พี่ชายเห็นผิดพลาดขนาดนี้เลยพาผมไปเที่ยวเมืองใหญ่มาเซียสองวันหนึ่งคืน นี่เป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกที่น่าตื่นเต้นสำหรับผม พอหาโรงแรมระดับธรรมดาได้ พี่ชายก็พาไปโรงหนัง ดูหนังซึ่งจะไม่เข้ามาฉายในเมืองไทยช่วงนั้นคือเรื่อง  Caboblanco หนังปี 1980 กำกับโดย เจ.ลี ธอมป์สัน นำแสดงโดย ชาร์ลส์ บรอนสัน, โดมินิค แซนดา หนังอยู่ในระดับสองดาว คือพอดูได้ หนังเลิกไปหาของกิน ระหว่างทางเดินผ่านร้านอาหาร เห็นผู้ชายชาวจีนแก่ๆนับสิบคนนั่งจ้องทีวีกันอย่างใจจดใจจ่อ พี่ชายมองไปที่จอแล้วบอกว่า อ๋อ กำลังดูหนังทีวีเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน (นำแสดง โดย ฉีเส้าเฉียน) กัน และกลับมาดูหนังรอบดึกเรื่อง Kramer vs. Kramer หนังตุ๊กตาทอง นำแสดงโดย ดัสติน ฮอฟแมน, เมอร์ริล สตรีฟ (ก่อนเข้าโรง พี่ชายซื้อน้ำเก็กฮวยจากหน้าโรง บรรจุในขวดแก้ว เอาไปกินในโรงได้ คนมาเลเซียชอบกินน้ำเก็กฮวยมาก จนน่าจะเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ก็ขนาดมีน้ำเก็กฮวยในกล่องยูเอสทีออกมาขายดีบขายดีด้วย) หนังเรื่อง Kramer vs. Kramer ที่ดูคืนนั้นพูดภาษาฝรั่งทั้งเรื่องไม่พากย์ไทย ไม่มีคำบรรยายไทย แต่แปลกที่ผมดูรู้เรื่อง และสนุกมาก ภาษาหนังเล่าเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ ไร้ที่ติ สมแล้วที่ได้ตุ๊กตาทอง หนังเลิก ผมกับพี่ชายเดินกลับโรงแรม ประตูปิดแล้ว พี่ชายตะโกนเรียก เจ้าหน้าที่เป็นชายชาวจีนอายุประมาณ 40 เดินมาเปิดประตู และพูดตำหนิว่าพวกผมกลับมาดึกเกินไป ประตูปิดแล้ว พี่ชายกล่าวขอโทษ เราสองคนเดินเข้าโรงแรม วันรุ่งขึ้นพวกเราเก็บของ เจ้าหน้าที่เดินมาที่ประตูเตือนว่า ผมกับพี่ชายต้องเช็กเอ้าท์ก่อนเที่ยง ถ้าเกินเวลาต้องจ่ายเงินเพิ่ม พี่ชายบอกว่าทราบแล้ว เราสองคนแพ็คกระเป๋าเสร็จและออกจากโรงแรมหลังจากนั้นไม่กี่นาที จากนั้นพี่ชายพาเดินเข้าห้างสรรพสินค้าซื้อของและเดินทางกลับ นึ่คือประสบการณ์การไปดูหนังที่ต่างประเทศ ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตผม ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่มีโอกาศจะได้ดูหนังทั้งสองเรื่องนี้เลย

หลังจากนั้นก็มีสิ่งที่ดูเหมือนพระเจ้าประทานให้กับนักดูหนังเมืองไทย นั่นคือการกำเนิดของเครื่องเล่นวิดีโอเทป โซนี่กับระเบต้าแม็ก พานาโซนิกกับระบบ VSH หนังฮอลลีวู้ดดังๆที่คนไทยอดอยากปากแห้ง ได้ดูแต่ภาพนิ่ง ก็ทยอยทำเป็นวิดีโอเถื่อนไม่มีลิขสิทธิ์ออกมา เริ่มจาก Star War, Saturday Night Fever เป็นหัวหอก ตามด้วย Rocky, Mad Max, The Empire Strikes Back, Raiders of the Lost Ark และอื่นๆอีกมากมาย เครื่องเล่นวิดีโอราคาหลักหมื่นขึ้นไป ถือว่าแพงมากๆในยุคนั้น เศรษฐีเท่านั้นจะมีเงินซื้อ คนธรรมดาไม่ต้องไปฝันถึง จำได้ว่าร้านหนังสือของผมรับแผ่นเสียงซาวด์แทรกหนังเรื่อง Grease นำแสดงโดย จอห์น ทราโวลต้า และโอลิเวียร์ นิวตั้นจอห์น มาขายหน้าร้าน ผมก็ได้แต่ดูปกแผ่นเสียง เปิดเพลงจากแผ่นฟังไปวันๆ ตัวหนังจริงๆไม่มีวาสนาได้ดูกันในช่วงนั้นหรอกครับ จำไม่ได้ว่าช่วงนั้น บริษัทจัดจำหน่ายหนังฝรั่งหยุดส่งหนังมาฉายเป็นเวลากี่ปี แต่ในความรู้สึกของคนดูหนังแล้ว เวลาช่วงนั้นมันยาวนานมาก มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียควงผู้หญิงทำงานกลางคืนเข้าร้าน ผู้หญิงซื้อหนังสือดาราหนึ่งเล่ม ชาวมาเลเซีญมองที่ปกแผ่นเสียงเรื่อง Grease แล้วถามผมเป็นภาษาอังกฤษว่าผมเคยดูหนังเรื่องนี้หรือยัง ผมตอบแบบเซ็งๆว่ายัง ชาวมาเลเซียคนนั้นบอกว่า เขาเคยดูแล้ว เป็นหนังที่ดีมาก ความที่เครื่องเล่นวิดีโอเทปราคาแพงมากจนคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินซื้อ ในกรุงเทพฯจึงธุรกิจร้านอาหารที่มีการฉายหนังฮอลลีวู้ดดังๆให้ดูด้วย ซึ่งฮิตอยู่พักหนึ่ง โรงแรมแห่งหนึ่งในเบตงก็ทำตามบ้าง แต่คิดราคาอาหารแพงมากๆจนคนดูบ่น ช่วงแรกร้านนี้ถือว่าดังมากๆ คนพูดถึงร้านนี้กันทั้งเมือง แต่พูดถึงในแง่ลบว่าคิดราคาอาหารแพงเกินไป คนดูคิดว่านี่เป็นแค่เมืองบ้านนอกเล็กๆ คุณจะมาแต่งร้านหรูแล้วคิดราคาเท่าร้านอาหารในกรุงเทพฯแบบนี้ คนในเมืองนี้ไม่มีปัญญาจ่ายหรอก ทำได้สักพักลูกค้าไม่เข้าร้าน เลยต้องเลิกกิจการไป

ปัจจุบัน ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ดูหนัง ทำงาน ชีวิตวุ่นวายไปวันๆ เรื่องราวของหนังในอดีตก็ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา วันหนึ่งเพื่อนรุ่นพี่ที่รักหนังเป็นชีวิตจิตใจ นำวิดีโอเรื่องหนึ่งมาให้ผมดู หนังเล็กๆจากอิตาลี หนังสำหรับคนรักหนัง Cinema Paradiso

Cinema Paradiso เป็นเรื่องของเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในชนบทของอิตาลี มีโรงหนังประจำเมืองอยู่หนึ่งโรง ผู้คนในเมืองนี้ดูหนังกันเป็นชีวิตจิตใจ เด็กน้อย โตโต้ มักจะเข้าไปในห้องฉายหนังที่ อัลเฟรโด ชายแก่ด้อยการศึกษาเป็นคนฉายหนัง โตโต้คลุกคลีกับอัลเฟรโดอยู่นาน ต่อมาอัลเฟรโดสอนโตโต้ฉายหนัง และโตโต้ก็กลายเป็นผู้ช่วยของอัลเฟรโดตั้งแต่นั้น พอโตเป็นหนุ่ม โตโต้ก็ยึดอาชีพฉายหนังต่อจากอัลเฟรโดซึ่งชรามากแล้ว ชีวิตของโตโต้ผ่านไปวันๆ ไม่ก้าวหน้า แต่ก็ไม่ถึงกับอดตาย เสียแต่พอจีบสาว สาวไม่เล่นด้วย เพราะมองว่าเป็นคนไม่มีอนาคต อัลเฟรโดไล่โตโต้ให้ไปอยู่เมืองใหญ่ เพราะเห็นว่าขืนอยู่เป็นคนฉายหนังต่อไป พอแก่ตัวก็จะมีแต่ตัว ไม่มีหลักไม่มีฐานอะไร จะมีสภาพเป็นไร้ค่าเหมือนกับเขา โตโต้จำใจจากแม่และจากทุกคนในเมือง หลังจากนั้นไม่นาน โตโต้ไปประสบความสำเร็จในธุรกิจภาพยนตร์

ประเด็นของหนังพูดถึงเรื่องความฝันกับความเป็นจริง ตอนเด็กโตโต้มองเห็นรูปปั้นสิงโตในโรงหนังขยับปากได้ ตอนที่โตโต้ฉายหนังเรื่อง Ulysses ริมคลอง นอกจากในจอหนังเป็นภาพเรือกำลังลอยอยู่บนน้ำ และที่ข้างๆจอก็มีเรือลอยอยู่บนน้ำจริงๆอยู่ด้วย อาชีพคนฉายหนังเป็นอาชีพในฝันของโตโต้ แต่ในความเป็นจริงอาชีพนี้ไม่มีอนาคต อัลเฟรโดปลุกโตโต้ให้ตื่นจากฝันมาสู่โลกของความเป็นจริง

ต่อมาอัลเฟรโดเสียชีวิต แม่โทรศัพย์ตามโตโต้ให้กลับมาบ้านเกิด ในงานศพอัลเฟรโด โตโต้พบกับแขกผู้มาร่วมงาน ทุกคนคือคนรักหนังที่เคยดูหนังที่ฉายโดยโตโต้ทั้งนั้น หลังงานศพ โตโต้และคนรักหนังในเมืองมายืนอยู่ที่หน้าโรงหนัง Cinema Paradiso ซึ่งกำลังจะถูกระเบิดทิ้ง โตโต้ถามเจ้าของโรงหนังที่ยืนอยู่ข้างๆว่าทำไมโรงหนังถึงเจ๊ง เจ้าของโรงตอบว่า ไม่มีคนดูหนังในโรงหนังกันอีกแล้ว ยุคนี้คนหันไปดูหนังจากวิดีโอไปหมด เขาขาดทุนและจำเป็นต้องขายกิจการ เจ้าของใหม่จะระเบิดโรงหนังทิ้งและเอาพื้นที่ตรงนี้ไปทำที่จอดรถ

ในยุคที่วีดีโอกำลังครองตลาดอยู่ขณะนี้ โรงหนังใหญ่ๆต้องถูกทุบทิ้งเพราะไม่มีคนดู ในทางกลับกัน ร้านเช่าวิดีโอกลับผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แย่งคนดูจากโรงหนังไปหมด ทุกคนหันไปหาความบันเทิงจากจอเล็กๆทางทีวี ทุกคนลืมมนต์ขลังของโรงหนังกันไปหมดแล้ว คงจะมีแต่คนอย่าง เดวิด ลีน ซึ่งมักจะถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 70 ม.ม. เพื่อให้ภาพที่ยิ่งใหญ่ตระการตา มีแต่คนอย่าง อากิระ คุโรซาว่า ซึ่งช่วงหนึ่ง วงการหนังของญี่ปุ่นตกต่ำอย่างหนัก แต่วงการหนังทีวีญี่ปุ่นกลับเฟื่อฟู ทำเอาคนทำหนังโรงต้องทำหนังฟอร์มเล็กๆเลียนแบบหนังทีวีเพื่อดึงคนดู คุโรซาว่าไม่เห็นด้วยกับการทำหนังแบบนี้ เขาบอกว่า ถ้าคุณจะทำหนังจอใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังของคุณจะต้องดูใหญ่โตมโหราฬตามไปด้วย คนอย่าง จูเซปเป้ โตนาโตร่า ผู้กำกับ Cinema Paradiso และคนดูหนังรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม ที่จะหวนให้ถึงความยิ่งใหญ่ของหนังในอดีต

อนิจจา สวรรค์ภาพยนตร์

Panavision
คอลัมน์ สนามลองมือ นิตยสาร หนังและวิดีโอ

บทความ 5
จาก Citizen Kane สู่ The Last Emperor
จากปุถุชนสู่มหาเศรษฐี จากจักรพรรดิสู่สามัญชน

The Last Emperor ผลงานสร้างของ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่ ออกฉายในปี 1988 คว้ารางวัลออสก้าร์ 9 ตัว กวาดรายได้และบารมีผู้กำกับไปทั่วโลก กลายเป็นหนังในดวงใจของใครต่อใคร นักวิจารณ์หลายคนยกย่องให้เป็นหนังคลาสสิก

ตัวหนังสร้างจากหนังสือ From Emperor To Citizen ของ อั้ยชิง เจี่ยวหรอ ฟู่อี้ ในหนังสือเดินเรื่องแบบ 1 ไป 2 และ 3 โดยเนื้อหาแล้วค่อนข้างหนัก เพราะเป็นหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ สถานีโทรทัศน์ของจีนแดงนำหนังสือเล่มนนี้มาทำเป็นละครทีวี เดินเรื่องตรงตามหนังสือเป๊ะ ผลที่ได้ก็อย่างที่รู้ๆกัน เป็นละครทีวีที่น่าเบื่อ

แบร์โตลุชชี่ เปลี่ยนกลวิธีในการเล่าเรื่องใหม่ เปิดเรื่องจาก 2 แล้วเล่าย้อนต้นไป 1 ไป 2 แล้วจบที่ 3 ด้วยเนื้อเรื่องที่น่าสนใจอยู่แล้ว ด้วยฝีมือกำกับที่ทำให้หนังมีเสน่ห์น่าติดตาม และด้วยกลวิธีเล่าเรื่องแบบ Citizen Kane (1941) ของ ออร์สัน เวลส์

@The Last Emperor เปิดเรื่องเมื่อจักรพรรดิ์ปูยีอยู่ในวัยกลางคน ถูกจับในฐานะอาชญากรสงคราม
@Citizen Kane เปิดเรื่องเมื่อ ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน ตาย
.......
@ปูยีวัย 3 ขวบ ต้องถูกพรากจากอกพ่อแม่ไปอยู่ในพระราชวังต้องห้าม พระนางซูสีไทเฮาทรงแต่งตั้งให้เด็กน้อยเป็นจักรพรรดิ
@เคนต้องจากพ่อแม่และบ้านในชนบทตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งแร่เงินในที่ดินของแม่ เธอเห็นว่า อนาคตของเคนและทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่รู้ตัวนี้จะมีความมั่นคงกว่า ถ้ามอบให้เป็นหน้าที่ของคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ เคนต้องไปอยู่กับแธทเชอร์ นักการเงินผู้เป็นผู้ปกครองของเคนตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม
.......
@เมื่อจักรพรรดิปูยีอายุได้ 17 ปี พระองค์ทรงตัดหางเปียทิ้ง เปลี่ยนระเบียบการปกครองสำนักพระราชวัง ปลดขุนวังคนเก่าออก แต่งตั้งคนใหม่ สั่งสอบสวนตรวจท้องพระคลังกรณีขันทีลักขโมยสมบัติของวังเอาไปขาย
@เมื่อเคนอายุ 25 เขาตัดสินใจซื้อกิจการหนังพิมพ์อินไควเรอร์ แม้ว่าแธทเชอร์จะไม่เห็นด้วย เพราะอินไควเรอร์เป็นหนังสือพิมพ์ที่กำลังจะเจ๊ง
.......
@The Last Emperor เล่าเรื่องโดยอาศัยการสอบสวนตัวปูยีเป็นหลัก
@Citizen Kane เล่าเรื่องผ่านนักข่าวผู้หนึ่ง ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ติดตามสืบประวัติของเคน เพื่อเสนอภาพที่แท้จริงของผู้ยิ่งใหญ่คนนี้
.......
@นักข่าวสืบประวัติเคนจากปากคำของผู้ใกล้ชิดทีละคน แต่ละคนให้ภาพของเคนในมุมมองที่ต่างกัน
@ช่วงปูยีเริ่มเป็นหนุ่ม แบร์โตลุชชี่เล่าเรื่องของปูยีผ่านมุมมองของ เรจิงนัน จอห์นสตัน (ปีเตอร์ โอทูล) พระอาจารย์จากต่างแดน
.......
@เคนเกือบจะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐ แต่โอกาสก็หลุดลอยไปกับข่าวอื้อฉาว
@ปูยีกลับมาครองตำแหน่งจักรพรรดิอีกครั้ง แต่เป็นได้เพียงจักรพรรดิหุ่น
.......
@พระสนมของปูยีขอหย่า ปูยีไม่ยอม หล่อนแอบหนีไปตอนเช้ามืด ปูยีรู้ข่าว โกรธ ทุบจานราคาแพงแตกไป 2 ใบ แผ่นเสียง 1 แผ่น
@เมียนักร้องของเคนตัดสินใจแยกทางกับเขา เคนทั้งขู่ทั้งปลอบ หล่อนก็ไม่ฟัง หล่อนเดินจากไปอย่างไม่ใยดี เคนบันดาลโทสะ พังข้างของในห้องเมียจนพินาศไปทั้งห้อง
.......
@สายลับสาวแจ้งข่าวร้ายให้ปูยีทราบ รัฐบาลจีนทำลายสุสานราชวงศ์แมนจู ปูยีตกตะลึงกับข่าวร้าย หน้าตาตึงเครียด ยืนเกร็งจนตัวงอ
@เคนหันหลังกลับมา กลุ่มคนใช้มายืนมุงดูเคนพังห้องพักของเมีย เคนพยายามระงับอารมณ์ หน้าตาตึงเครียด ยืนเกร็งจนตัวงอ ค่อยๆก้าวออกจากห้องช้าๆ
.......
@วาระสุดท้ายของปูยี เขาก้าวขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์มังกร ก้มลง หยิบกล่องจิ้งหรีด ของเล่นวัยเด็กของเขามาให้เด็กเฝ้าวังดู
@วาระสุดท้ายของเคน เขาเอ่ยนาม โรสบัด เลื่อนไม้ที่เคนเคยใช้เล่นกลางหิมะสมัยเป็นเด็ก
.......
มีหนังอีกเรื่องของ ออร์สัน เวลส์ ที่ดูเหมือนแบร์โตลุชชี่จะได้รับอิทธิพลมาไม่น้อย นั่นคือ The Magnificent Ambersons (1942) เรื่องของความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในสังคมซึ่งมาประจวบเหมาะพร้อมกันพอดี เริ่มจากการเปลี่ยนจากศตวรรษที่ 19 เป็น 20 การเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม เรื่องราวของ ยูยีน มอร์แกน ผู้มั่งคั่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และ ยอร์ช มินาเฟอร์ ซึ่งสูญเสียทุกอย่างไปในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ความมั่งคั่งและสุนทรียภาพของระบบผู้ดีเก่าสิ้นสุดลง รถยนต์มาแทนที่รถม้า

โดยโครงเรื่องแล้วใกล้เคียงกับ The Last Emperor มาก เพียงแต่เรื่องนี้ ออร์สัน เวลส์ เล่าเรื่องแบบง่ายๆ คือเริ่มจาก 1 ไป 2 และ 3

The Last Emperor เป็นหนังที่ประสพความสำเร็จในทุกๆด้าน
ส่วน Citizen Kane นั่นประสพความล้มเหลวด้านรายได้ ถึงแม้นักวิจารณ์จะยกย่อง แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ยุคนั้นกลับเกลียดชัง มีคนมากมายเดินออกก่อนหนังจบและเรียกร้อวขอเงินคืน หนังได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ 9 รางวัล แต่ได้รับเพียงรางวัลเดียวคือบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แม้กระนั้นก็ยังคงต้องพูดกันอีกนับครั้งไม่ถ้วน และจะต้องยังคงพูดกันต่อไปอีกว่า Citizen Kane ของ ออร์สัน เวลส์ เป็นหนังยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันขึ้นมา

Panavision
คอลัมน์ สนามลองมือ นิตยสาร หนังและวิดีโอ ปีที่ 4 ฉบับที่ 56 ปักษ์แรก ตุลาคม 2534

บทความ 6
อมตะหนังผีไม่ยอมตาย Nosferatu แดร็คคูล่าเรื่องที่ไม่ใช่ของสโตเกอร์

“Nosferatu is the greatest movie ever made on the Dracula theme” Francis Ford Coppola, นิตยสาร Fangoria

สมัยที่ผมเริ่มริอ่านไปดูหนังสถาบันยุคแรกๆ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่หนังเปลี่ยนสถานที่ฉาย จากประจำหอศิลป์เจ้าฟ้า ไปฉายในบริเวณหอภาพยนตร์แห่งชาติ เปลี่ยนเวลาจาก 6 โมงเย็นเป็น 1 ทุ่ม ตอนที่ผมไปถึงนั้นเป็นเวลาฟ้ามืดแล้ว พอเดินเข้าประตูใหญ่ซึ่งเป็นซากปรักหักพังโรงกษาปณ์เก่ามันมืดไปหมด มีเสียง กริ๊กๆๆ ดังขึ้นด้านบน ผมแหงนหน้าขึ้นไปมอง เห็นผ้าสีขาวผืนหนึ่งเคลื่อนผ่านอากาศมาหยุดอยู่ใกล้ๆ ผมยืนมองผ้าผืนนั้นด้วยความงง มีเสียงคน 3-4 คนหัวเราะขึ้น ผมมองตามต้นเสียง เห็นกลุ่มผู้ชายผู้หญิงยืนปิดปากหัวเราะอยู่ เสียงผู้หญิงพูดขึ้นว่า พี่...เขาไม่กลัวแหน่ะ ถึงตอนนี้ผมถึงได้รู้ว่า พวกเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ทำผีมาหลอกผม แต่ด้วยไม่รู้ว่าเขาจะวางแผนทำผีหลอกคนเสียก่อน ผมจะได้แกล้งทำกลัวตามคิว เสียงผู้ชายเชิญผมให้เข้าไปด้านใน ผมเลยเดินงงๆผ่านเข้าไป ไม่รู้ว่าเจ้าผ้าขาวผืนนั้นหลอกใครไปได้บ้าง

มีเทียนและแสงไฟวางเป็นจุดๆ บรรยากาศมืดครึ้มวังเวง จอหนังสีขาวขึงเด่นอยู่กลางลานหน้าตัวอาคาร เก้าอี้วางเรียงเป็นแถวตามพื้นในลักษณะของหนังกลางแปลง เสียงกระซิบกระซาบพูดคุยของผู้ชมจำนวนพอประมาณกระจัดกระจายอยู่ทั่ว ตอนนั้นใกล้เวลาฉายเต็มที่แล้ว แต่ยังมีความขลุกขลักในการจัดเตรียมเครื่องฉายอยู่อีกสักพัก ไฟรอบๆก็ดับลงจนหมด ขณะที่ไตเติ้ลหนัง Nosferatu เริ่มฉาดแสงขึ้นบนจอ

ความจริงผมเข้าใจว่าผมไม่รู้จักหนังเรื่องนี้มาก่อน แต่พอตอนตัวผีออกมาก็จำได้ว่า เคยเห็นรูปผีตัวนี้ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์หนังของโลก จากหนังสือใบ้หวยชื่อ ดาราไทย ความที่เป็นหนังเงียบถ่ายสปีดสูงยุคขาว ดำ แทนที่จะน่ากลัวกลับดูตลก โดยเฉพาะฉากเด่นที่ผี นอสเฟราตู เอาโลงศพมาเหน็บไว้ที่เอว แล้ววิ่งจู๊ดอย่างกับนักวิ่งร้อยเมตร คนดูฮากันลั่น ต่อมาเมื่อรู้จักกับเพื่อนฝูงคอหนังสถาบันเหมือนกัน ทุกคนจะพูดถึงนอสเฟราตูด้วยฉากเด็ดฉากนี้ แล้วหัวเราะกันลั่นวงสนทนา เวรกรรม

หนังคลาสสิกปี 1922 ของ ฟรีดริช วิลเฮล์ม มัวร์เนา เปิดฉายครั้งแรกในเมืองไทยคืนนั้น ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีก๊อปปี้หนังเรื่องนี้ในเมืองไทย คุณสมชาติ บานแจ้ง นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ติดต่อให้สถาบันเกอเธ่นำฟิล์มจากเยอรมันโดยเฉพาะ วันที่ฉายนี้ ฟิล์มก็เพิ่งลงมาจากเครื่องบินสดๆร้อนๆ

ทว่าคนรุ่นใหม่เกือบจะหมดโอกาสดูหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมัวร์เนาเอาเนื้อเรื่องมาจากนิยาย Dracula ของ บราม สโตเกอร์ โดยไม่ขอลิขสิทธิ์ เขาเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก แดร็คคูล่า เป็น นอสเฟราตู (แปลว่า พวกไม่ตาย) ตามคำเรียกเฉพาะของแวมไพร์ ชื่อตัวละครกับเหตุการณ์ในเรื่องดัดแปลงเปลี่ยนไป แถมแก้ไขเรื่องให้มีความลึกขึ้น ต่อมาเมื่อ บราม สโตเกอร์ ตายไปหลายปี แดร็คคูล่าถูกสร้างเป็นละครเวทีดังเกรียวกราว ทำให้หนังสือพลอยขายดีไปด้วย ภรรยาหม้ายของสโตเกอร์ได้ฟ้องร้องมัวร์เนาเรื่องลิขสิทธิ์ ใช้อำนาจศาลบังคับให้เผาฟิล์มก็อปปี้และฟิล์มเนกาตีฟต้นฉบับ แต่โชคดียังมีก๊อปปี๊หนังเรื่องนี้หลุดรอดกระจัดกระจายอยู่หลายประเทศ จนตกมาถึงคอหนังเก่าอย่างผมได้ดูในคืนวันนั้น

นอกจากผมแล้วคอหนังเก่าคนหนึ่งล่ะที่ต้องเคยดูหนังเยอรมันเรื่องนี้มาก่อน จะเป็นใครไหนอื่นถ้าไม่ใช่ ทิม เบอร์ตัน ที่ต่อมากลายเป็นผู้กำกับเสียเอง เพราะเขาชอบแสดงอย่างออกนอกหน้าว่าชอบหนังสยองขวัญ แล้วต้นตอหนังสยองขวัญมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เยอรมัน ในหนัง Batman Returns ยังเอาชื่อ แม็กช์ เชร็ค นักแสดงที่เล่นบทนอสเฟราตู มาใช้เป็นชื่อผู้ร้ายที่ คริสโตเฟอร์ วอลเก้น เล่น

และอิทธิพลของหนัง Nosferatu ก็ยังแทรกซึมอยู่ในหนังแดร็คคูล่าที่สร้างตามกันมาอีกหลายเรื่อง ดังที่ผมจะสาธยายให้ได้รับฟังกันต่อไปนี้

ตำนานเกี่ยวกับแวมไพร์นั้นมีมานมนานมาก และก่อนหน้านี้เคยมีนิยายออกมาบ้างแล้ว แต่แดร็คคูล่าของ บราม สโตเกอร์ จะเด่นกว่าในการสร้างตัวละคร เพราะมีการค้นคว้าสร้างรายละเอียดภูมิหลังตัวแดร็คคูล่าขึ้นมาอย่างหนักแน่น น่าเชื่อถือจนดูเหมือนมีตัวตนจริงๆ ถึงขนาดมีการจัดทัวร์ปราสาทแดร็คคูล่าในโรมาเนีย ค้าขายกันเป็นล่ำเป็นสัน

ความจริงไอเดียในการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครต่างๆด้วยจดหมายและสมุดบันทึกเป็นเรื่องที่ดี จนอาจเป็นการเล่าในวิธีล้ำยุคด้วยซ้ำ สโตเกอร์ใช้ประโยชน์จาก ปูมหลังชีวิตของเขาที่ต้องนอนป่วยอยู่ตลอดถึง 8 ปี ช่วยเสริมจินตนาการเกี่ยวกับแวมไพร์ แต่การเล่าเรื่องวิธีนี้นี่เองทำให้การเล่าเรื่องดูประดักประเดิด ไม่ไหลลื่น (หนังฉบับของคอปโปล่าคงส่วนนี้ของหนังสือไว้ จึงพลอยพากันดูขัดเขินไปด้วย)

จุดด้อยอีกส่วนหนึ่งของหนังสือคือการเปรียบเปรยถึงความดี ความชั่วในลักษณะตรงไปตรงมา มีตัวแทนเด่นชัดของธรรมะ อธรรมเป็นขาวจัด ดำจัด บทหนังของมัวร์เนาต่างหากที่ขยายดัดแปลงเรื่องให้มีความลึกขึ้น ปูความสัมพันธ์ระหว่างแดร็คคูล่าและมีน่านางเอกไว้เป็นนัยๆ และในหนังสือก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าทำไมแดร็คคูล่าเมื่อมาล่าเหยื่อในลอนดอนกลับจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะกับเพื่อนๆคนรู้จักของพระเอกโจนาธาน แต่หนังฉบับมัวร์เนา(ที่หนังแดร็คคูล่าฉบับอื่นเดินรอยตาม) ชี้ชัดเลยว่าแดร็คคูล่าเห็นรูปมีน่าที่โจนาธานพกติดตัว จึงเจาะจงมาหามีน่า ในหนังเธอมีบทบาทมากขึ้น คือเป็นผู้ปราบผีด้วยตนเอง จากที่เธอได้อ่านตำราประวัติเก่าแก่แวมไพร์ รับรู้ว่าความรักความบริสุทธิ์ในหัวใจ เลือดบริสุทธิ์ของหญิงสาวเท่านั้นจะจัดการกับแดร็คคูล่า ในตอนท้ายเธอล่อให้มันมาดูดเลือดเธอจนฟ้าสางและพากันตายตกตามกัน เป็นการจบเรื่องทำร้ายคนดูแบบสุดขั้วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การทิ้งเรื่องแบบนี้นี่เอง ที่ต่างจากหนังสือและหนังแดร็คคูล่าหลายๆฉบับซึ่งจบแบบให้ผีร้ายตาย แล้วพระเอกนางเอกก็อยู่กันอย่างมีความสุข ในหนังมัวร์เนาถึงแม้ผีจะตาย แต่ก็ต้องแลกด้วยชีวิต ความรัก บริสุทธิ์ของนางเอก การทิ้งบาดแผลให้พระเอกและคนดูทรมานใจอีกนาน จุดนี้นักวิจารณ์ฝรั่งหลายคนวิเคราะห์ว่าหนัง Nosferatu และหนังเงียบเยอรมันเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อื่นๆ เป็นเสมือนภาพทำนายหายนะในอนาคตที่จะมาถึง อย่างในสมัยก่อนที่โรคระบาดน่ากลัวที่สุดคือกาฬโรค (หนังฉบับมัวร์เนาและฉบับของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับหนูจำนวนมหาศาลในโลงศพหลายใบที่กระจายไปทั่วเมือง ทำให้ผู้คนป่วยไข้ล้มตายมากมาย) ถัดมาก็มีสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งน่ากลัวกว่าครั้งแรกหลายเท่า การที่แดร็คคูล่าจ้างโจนาธานสั่งซื้อปราสาทหลายแห่งในลอนดอน เพื่อขยายอำนาจตัวเองออกไป ก็เปรียบเสมือนการแผ่ขยายอำนาจฮิตเลอร์ อันตรายจากเผด็จการนาซี คอมมิวนิสต์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้กลายเป็นคำจำกัดความหนังแนวเยอร์มันเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ตั้งแต่นั้นมา

อิทธิพลที่ว่านี้รวมถึงหนังเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์รุ่นใหม่อย่าง Batman ด้วย ทิม เบอร์ตัน แสดงชัดเลยว่าหลงใหลในตัวอาชญากร และการแผ่นขยายอำนาจชั่วร้ายอย่างออกหน้าออกตา ความมืดครึ้มน่ากลัวของเมืองก็อทแธมเป็นเมืองสมมุติซึ่งออกแบบฉากโดยฝ่ายศิลป์ชาวเยอรมัน โครงสร้างของเสามีมุมเหลี่ยมมุมป้าน เต็มไปด้วยซอกมุมที่กดดันตัวละครเหมือนตกอยู่ในนรก ตัวละครหลักทุกตัวตั้งแต่ Catwoman รวมไปถึงผู้ร้ายทุกตัว ที่ถูกบีบจนต้องลุกขึ้นอาละวาด ทำตัวให้โดดเด่น เรียกร้องความสนใจแสดงความสำคัญ ชดเชยปมด้อยของตนเอง แม้แต่พระเอกอย่าง Batman ก็ไม่ได้ปกตินัก

เสน่ห์ของความชั่วร้ายนี้แน่นอนว่าปรากฎชัดในตัวละครแดร็คคูล่า ไม่ว่าจะปรากฏตัวในคราบหนุ่มรูปงามสวมทักซีโด้ หรืออสุรกายหัวล้าน หูแหลม เขี้ยวยาว มีมือเป็นกรงเล็บ ก็ไม่แร้นแค้นนัยดึงดูดทางเพศทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกัน ภาพพจน์สะอาดบริสุทธิ์ของมีน่าก็ไม่ได้ปลอดพ้นจุดนี้ด้วย โดยจะเห็นชัดมากขึ้นหลายเท่าในหนังยุคถัดไป

ใน Nosferatu มีน่าจะมีลางสังหรณ์ร่วมกับแดร็คคูล่า เธอจะรู้สึกได้ว่าแดร็คคูล่าจะเดินทางมา ทำไมมัวร์เนาถึงได้เสนอภาพเธอไปนั่งอยู่ชายทะเล เหมือนกับรอคอยแดร็คคูล่าทั้งๆที่โจนาธานคนรักของเธอไม่ได้ใช้เส้นการเดินทางทางน้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้นเธอรอคอยใครกันแน่ เพราะเจ้าผีร้ายก็เดินทางมาทางเรือจริงๆ

การเสนอตัวให้แดร็คคูล่าดูดเลือดมีนัยทางเซ็กส์ชัดเจน ในหนังปี 1979 Nosferatu the Vampire ก็มีการเอามือกุมหน้าอกเหยื่อด้วย

หมอ แวน เฮลซิ่ง ผู้ปราบแดร็คคูล่า พูดไว้ในหนังฉบับบริษัทแฮมเมอร์ปี 1958 Horror of Dracula ว่าเหยื่อที่ถูกกัดนี้ ถึงแม้จะชิงชังตัวเองที่ถูกแปดเปื้อน แต่ก็ไม่สามารถห้ามใจตัวเองจากความพอใจในการถูกดูดเลือดได้ เหมือนคนที่ติดยาเสพติด

หรือเหมือนคนที่หิวกระหายทางเซ็กส์ ตัดใจเลิกลำบากกันแน่ ปริศนาของการถูกกัดที่มีทั้งความเจ็บปวด และความสุข

Bram Stroker’s Dracula ของคอปโปล่าซึ่งนอกจากอุดมการณ์อ้างอิงหนังแดร็คคูล่าฉบับต่างๆ หนังคลาสสิกหลายๆเรื่อง ศิลปะทุกแขนง ยังคงประเด็นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดอย่างครบถ้วน และเพื่มความสัมพันธ์ระหว่างมีน่าและแดร็คคูล่าให้กำกวมยิ่งขึ้นไปอีก โดยปูเรื่องความรักระหว่างขุนศึกแดร็คคูล่ากับเจ้าสาวของเขาตอนต้นเรื่อง เพื่อแสดงภาพการกลับมาเกิดใหม่ของความรักทั้งคู่ แถมเน้นความรักระหว่างปีศาจกับสาวงามเป็นโครงเรื่องหลัก บทของโจนาธานกับหมอแวน เฮลซิ่ง ถูกลดบทบาทลงไป นับเป็นการปฏิวัติหรือทรยศต่อโครงเรื่องธีมเดิมของผู้แต่งบราม สโตเกอร์ อย่างน่าสนใจยิ่ง

การถูกกัดและกัดตอบของทั้งสองมีทั้งความเจ็บปวดและความสุขสม เธอยอมดื่มเลือดแดร็คคูล่าเพื่อจะตามไปอยู่คู่กับเขาเสียด้วย สีแดงเลือดที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในหนังแวมไพร์ ดร.แวน แฮลซิ่ง ยังพูดในฉากเล็คเชอร์นักศึกษาว่าเลือดคือพาหนะของโรค คนมักจะโทษว่าซิฟิลิสมาพร้อมกับความศิวิไลซ์ และยังเรียกคำกามโรคกับคำว่ากามเทพใช้ร่วมกันเสียอีก

ถ้าสมัยก่อนสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนคือบรรดาโรคระบาด อย่างกาฬโรค ภัยสงคราม โรคอะไรที่น่ากลัวที่สุดในปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่เอดส์ซึ่งแพร่ผ่านเลือด

หนังฉบับคอปโปล่าแดร็คคูล่านี้บอกต้นกำเนิดจอมปีศาจ เริ่มจากเจ้าชายวแลดที่ 3 ที่สูญเสียอลิซาเบธคนรัก คลุ้มคลั่งเอาดาบแทงไม้กางเขน ดื่มเลือดที่หลั่งออกมา ในตำนานคริสต์ศาสนา การดื่มเลือดจากจอกศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงความประสาทพรให้มนุษย์ แทนความการุณย์ของพระเจ้า แต่ในหนังการกระทำของวแลดเป็นการกระทำบาปที่รุนแรงมากตามความเชื่อของคริสต์ที่ว่า บาปที่ร้ายแรงที่สุดคือการท้าทายอำนาจพระเจ้า เลือดที่เขาดื่มด้วยความแค้นจากไม้กางเขนผ่านจอกทำให้ถูกสาปเป็นแวมไพร์

ผู้กำกับตะวันตกโดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายอิตาเลียนอย่าง เฟลลินี่, สกอร์เซซี ก็มีปมศาสนาแบบนี้กันทั้งนั้น กฎเกณฑ์คำสอนศาสนาที่สอนให้คนทำดี แต่ก็ยากกับการปฏิบัติตาม ครั้นจะทำบาปก็เป็นความรู้สึกผิด ทรมานในจิตใจ พอลงทุนทำความดีก็กลับได้ผลร้ายตอบ ความรู้สึกผิดชอบอย่างทุคนทุรายทำให้ผู้กำกับหนังมักจะตั้งคำถามกับศาสนามาตลอด

ความคิดที่ว่าถ้ามีใครอยู่เป็นชีวิตอมตะอย่างแวมไพร์สักคน คนๆนั้นจะต้องเป็นคนที่รู้แจ้งในความเป็นไปของโลก มีเสน่ห์ มีฐานะพลังอำนาจไม่ต่างจากพระเจ้า อย่างตัวแวมไพร์ในหนังของ โรมัน โปลันสกี้ The Fearless Vampire Killers เปิดห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหนังสือมากมายมหาศาล แล้วกล่าวด้วยความภูมิใจว่า นี่ไงความรู้ของผม ความรู้ของโลกทั้งโลกอยู่ในนี้

ส่วนหนังฉบับของแฮร์โซกจะพูดถึงการทุรนทุรายในการมีชีวิตอมตะ สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าความตายคือการมีชีวิตอยู่หลายทศวรรษโดยไม่ตายสักที คอปโปล่าย่อมไม่ยอมน้อยหน้าให้แดร็คคูล่าที่มีชีวิตอย่างผิดหวัง เริ่มมีความหวังอีกครั้งเมื่อเห็นภาพมีน่าจากโจนาธาน ในฉากที่แดร็คคูล่าพบตัวจริงเธอครั้งแรก คอปโปล่าเปิดซีนด้วยการถ่ายทำแบบสปีดโบราณ ภาพดูกระตุก มีเสียงคนตะโกนว่า เชิญชมความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ ภาพเคลื่อนไหวได้ แดร็คคูล่ามองเห็นมีน่าจากฝูงชน เหมือนมุมมองของคนดูที่จ้องมองเสน่ห์ของผู้หญิงในหนัง มีน่าสำหรับแดร็คคูล่าคือโมชั่นพิคเจอร์ แดร็คคูล่าบอกเธอว่าเขาสนใจอยากดูวิวัฒนาการภาพเคลื่อนไหว ขอให้เธอพาเขาไปดู

ความวิเศษอย่างหนึ่งของหนัง ที่หาสิ่งใดมาเทียมไม่ได้ คือการชุบชีวิตคนที่ตายไปแล้ว ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รีเพลย์ซ้ำๆบนจอภาพยนตร์ การกำเนิดใหม่ของมีน่าเปรียบได้กับการกำเนิดของหนัง แดร็คคูล่ายืนดูหนังอย่างชื่นชม ส่วนมีน่าด่าว่าหนังโป๊บนจอว่าเป็นความสกปรก นี่หรือศิลปะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ของแบบนี้จะเทียบกับงานมาดามคูรี่ได้ยังไง

ศักยภาพของหนังสามารถเอาธาตุแท้ของมนุษย์ออกมาให้เห็นกัน รวมทั้งของมีน่า เป็นด้านมืดที่ตัวเธอเองไม่ยอมรับ เช่นเดียวกันตอนต้นเรื่อง เธอตำหนินิยายอย่างอาหรับราตรีที่มีภาพลามกประกอบ สมัยก่อนหนังสืออาจเปิดเผยความจริงที่มนุษย์ไม่กล้ายอมรับ ต่อมาหนัง สื่อร่วมสมัยสำหรับคนยุคต่อๆไปและในอนาคต ก็เข้ามาทำหน้าที่แทนในลักษณะเดียวกัน ตอนท้ายเรื่องมีน่าก็ทำตัวเหมือนกับหนังที่หล่อนดูเสียด้วย ด้วยการเป็นชู้รักกับแวมไพร์

ความตายของแดร็คคูล่าในตอนจบเปรียบเสมือนความฝันอันสูงสุดของชาวคริสต์และตัวคอปโปล่า นั่นคือได้รับการไถ่บาป ได้ตายในอ้อมกอดของคนรัก และอ้อมหัตถ์พระผู้เป็นเจ้า ไหนๆภาพการล้างบาปกับการฆ่าก็ตัดสลับเป็นธีมสำคัญของหนังตั้งแต่ Godfather ทั้ง 3 ภาคโน่น ความฝันที่วิเศษสุดนี้เป็นจริงมาได้เพราะกำเนิดของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คอปโปล่าดรีมเป็นจริงได้ด้วยจุดเริ่มต้นจากหนัง Nosferatu แท้ๆ

แดร็คคูล่าฉบับต่างๆมีชีวิตขึ้นมาได้จากรอยประวัติศาสตร์ฟิล์ม Nosferatu ที่โชคดีไม่ถูกทำลายไป คงจะมีหนังแดร็คคูล่าฉบับใหม่ๆ ดาราใหม่ๆ สร้างมาอีกให้คนดูหนังอย่างผม และคอหนังทั้งหลายได้ดู ขบคิด ตีความแตกตามความเห็นส่วนตัวของแต่ละคนอีกไม่รู้จบสิ้น ด้วยฟิล์มหนังนี่แหละที่ทำให้แดร็คคูล่าเป็นอมตะตลอดไปไม่มีวันตาย แม้เมื่อคนเลิกอ่านหนังสือไปแล้วก็ตาม

สนทยา ทรัพย์เย็น ค้นข้อมูล
หยงฮ้ง แซ่เตียว เขียน เรียบเรียง
สนทยา ทรัพยเย็น รีไร้ท์ซ้ำอีกครั้งก่อนตีพิมพ์ สำนวนการเขียนบทความชิ้นนี้จึงออกมาเป็นสำนวนของคุณสนทยา ทรัพย์เย็น
คอลัมน์ สมาคมคอหนัง นิตยสาร Filmview ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 มกราคม 2537

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น